ปี 2022 ข้อจำกัด อุปสรรค และความท้าทาย สู่การเรียนรู้ที่จะพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส

ปี 2022 ข้อจำกัด อุปสรรค และความท้าทาย สู่การเรียนรู้ที่จะพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส

ตลอดเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา โลกเราต้องเจอกับอุปสรรคและความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และดูเหมือนว่าเรายังต้องเผชิญหน้ากับโควิด-19 ไปตลอดปี 2565 นี้ เพราะไวรัสยังคงกลายพันธุ์อยู่ตลอด นอกจากโรคระบาดแล้ว เรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากสภาวะโลกร้อน ที่นับวันจะรุนแรงและสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อชีวิต ทรัพย์สิน และระบบเศรษฐกิจ

แต่ "ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส" อยู่ที่เราจะสามารถเรียนรู้และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ทาง The Reader ก็ได้เลือกหนังสือที่จะมาอ่านและแนะนำ เพื่อเปิดมุมมองและเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าด้วยกันทั้งหมด 3 เล่ม คือ

1. The Obstacle is the Way: อุปสรรคคือทางออก

ในปีสองปีที่ผ่านมา โลกต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 และมีทีท่าว่าจะยังไม่ทุเลาลงง่าย ๆ อีกทั้งในอนาคตข้างหน้าโลกต้องเผชิญกับวิกฤตจากภัยธรรมชาติที่กำลังเกินกว่าจะหวนกลับมาดังเดิม

แต่ทุกอุปสรรคก็ย่อมมีโอกาสสำหรับคนที่ปรับตัวและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง หนังสือ “The Obstacle is the Way: อุปสรรคคือทางออก” จะพาเราท่องไปในยุคสมัยต่าง ๆ ของมนุษยชาติ ตั้งแต่ช่วงล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน ยุคเรอเนสซองซ์ ยุคสงครามกลางเมืองอเมริกา ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ไปจนถึงยุคปฏิวัติเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพื่อแสดงให้เห็นว่า เมื่อใดที่มนุษย์ถูกต้อนให้อยู่ในมุมมืดที่สุด เมื่อนั้นเราจะหาทางค้นพบแสงสว่างที่ต้องการได้เสมอ

2. The Best Place to Work: ที่ (น่า) ทำงาน

วิกฤตโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงและปฏิวัติการทำงานของเราหลาย ๆ คน ที่ต้องทำงานอยู่ที่บ้าน ประชุมผ่านออนไลน์ ซึ่งทำให้การปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานลดน้อยลง (ซึ่งเชื่อว่าใครหลาย ๆ คนคงเป็น Home Symdome และก็อยากกลับไปใช้ชีวิตปกติอีกครั้ง) และก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าออฟฟิศก็ยังคงเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญ

หนังสือ “The Best Place to Work ที่ (น่า) ทำงาน” เขียนโดย รอน ฟรีดแมน นักจิตวิทยาสังคม ผู้สนใจศึกษาแรงจูงใจของมนุษย์และพฤติกรรมองค์การ การบริหารจัดการ ความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ ร่วมด้วยกลเม็ดเคล็ดลับจากบริษัทชั้นนำ เช่น กูเกิล แอมะซอน และสตาร์บัคส์

ซึ่งหนังสือเล่มนี้เสนอคำตอบสำหรับผู้บริหารและว่าที่ผู้นำแห่งอนาคตเพื่อออกแบบและลงแรงสร้าง “ที่ (น่า) ทำงาน” ในฝัน ที่เต็มไปด้วยประสิทธิภาพ นวัตกรรม ความสุข ความรู้สึกผูกพันและมีส่วนร่วม ผลงานที่น่าภาคภูมิและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงานทุกคน

3. Why The Germans Do It Better: คิดแบบเยอรมัน เขาทำกันยังไง

ประเทศเยอรมัน หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่ม G7 ซึ่งเป็นกลุ่มชาติผู้นำอุตสาหกรรมหลักของโลก 7 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น รวมถึงยังมีสหภาพยุโรปด้วย

หนังสือ “Why The Germans Do It Better (คิดแบบเยอรมัน เขาทำกันยังไง)”

จะนำพาเรามาเรียนรู้วิธีคิด เข้าใจมุมมองของประเทศที่เคยผ่านวิกฤตแต่ก็ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศต้นแบบของโลกได้

หนังสือเล่มนี้จะเปิดมิติของเยอรมนีไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ นโยบายการเปิดรับผู้อพยพ การต่างประเทศ การตระหนักถึงภัยจากภาวะโลกร้อน และวัฒนธรรม อีกทั้งยังจุดประกายความคิดและการถกเถียงว่า ประเทศอื่นจะนำบทเรียนของพวกเขาไปปรับใช้ได้ไหม ในยุคที่โลกกำลังเผชิญความไม่แน่นอนในทุกมิติเช่นนี้

สุดท้ายนี้ ผมขอหยิบยกคำกล่าวที่ว่า

A new year is like a blank book. The pen is in your hands. It is your chance to write a beautiful story for yourself.

หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า "ปีใหม่เปรียบดั่งหนังสือที่ว่างเปล่า ปากกาอยู่ในมือคุณแล้ว คุณมีโอกาสที่จะเขียนเรื่องราวที่สวยงามให้ตัวเอง" ผมหวังว่าเรื่องราวของท่านจะสุขและสมหวังตลอดปี 2565 นี้

© 2023 The Reader. All rights reserved.